พระรัชมงคลนายก
(หลวงตาคำดี ปญฺโญภาโส)
ชีวประวัติย่อหลวงตาคำดี ปัญโญภาโส
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส นามเดิมท่านชื่อ ดี นามสกุล ใบหะสีห์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ณ บ้านหนองหอย หมู่ที่ ๔ ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
บิดาท่านชื่อ นายถา ใบหะสีห์ มารดาท่านชื่อ นางคำ ใบหะสีห์ มีพี่น้องทั้งหมด จำนวน ๖ คน ท่านเป็นคนที่ ๓
ชีวิตในวัยเด็ก
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ อายุ ๑๐ ปี บิดามารดาได้ส่งให้ท่านเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดศิริสุภา ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร สมัยเรียนที่เรียนอยู่นั้น หลวงตาคำดี จะเรียนติดอันดับที่หนึ่งของห้องตลอด ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาที่ ๑–๔ เพราะท่านเป็นคนที่เรียนเก่ง มีความขยันหมั่นเพียร อีกทั้งยังเป็นคนที่มีอุปนิสัยสุภาพเรียบร้อย จนปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านจึงจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ครั้นจบจากการศึกษาแล้วท่านได้ช่วยบิดามารดาทำนา ทำสวน ปลูกฝ้าย ปลูกพริก เลี้ยงวัวเลี้ยงควายไปตามประสาของชาวชนบท
การบรรพชาอุปสมบท
ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดโพนธาราม ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาย์ จังหวัดสกลนคร โดยมี พระอธิการโท วรปญฺโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นบวชแล้ว ท่านได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดสะพานคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านมีอุปนิสัยน้อมไปในการปฏิบัติธรรม มาตั้งแต่ครั้งที่เป็นสามเณรอยู่ โดยท่านสามารถติดต่อกับคนที่ตายไปแล้วได้ คือ ญาติของคนที่ตายไปแล้วนั้น อยากจะทราบว่าไปอยู่ในสถานที่ใด ท่านก็เข้าสมาธิดูให้
ต่อมาพออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา โดยมี พระอธิการโท วรปญฺโญ วัดโพนธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พอบวชแล้วท่านได้มาอยู่ที่วัดสะพานคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตั้งใจศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมวินัย หัดท่องบ่นบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จนสามารถท่องจำได้ทุกบท ต่อมาได้ยินกิตติศัพท์คุณธรรมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จึงได้ไปฟังเทศนาธรรมของท่านและเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงมาขออยู่ปฏิบัติธรรมด้วยที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ โดยมีหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นพระพี่เลี้ยง
ญัตติเป็นพระธรรมยุต
พออายุ ๒๓ ปี หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคมพ.ศ.๒๔๙๒ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งที่เป็นพระสารภาณมุนี วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชสุทธาจารย์ (พรมมา โชติโก) เมื่อครั้งที่เป็น พระครูวิจิตวินัยการ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาให้ว่า “ปัญโญภาโส” แปลว่า “ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง”
การบวชในสมัยนั้น หลวงตาคำดีเล่าว่า “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นผู้มอบหมายให้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ นำพาไปญัตติที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม” ครั้นบวชแล้วได้เดินทางกลับมาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติฝึกหัดจิตภาวนากับท่าน อยู่อุปัฏฐากรับใช้ท่าน รวมทั้งได้เดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปในสถานที่ต่างๆ ตามเทือกเขาภูพาน ป่าดงพงไพรอื่น และได้ติดตามหลวงปู่ฝั้น ขึ้นไปบุกเบิกสร้างวัดป่าถ้ำขาม อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และวัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
หน้าที่การงานทางพระพุทธศาสนา
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๑๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๑๔ เป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง นครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ – ๒๕๑๔ เป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมือง นครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๓๘ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมือง นครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๒๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าห้วยน้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๓๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
ปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๓๗ เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าภูธรพิทักษ์ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๖ เป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๙ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)
อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมส่วนรวม
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านออกจาริกธุดงค์กรรมฐาน เที่ยวประกาศพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้วไป ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ให้เข้าใจในหลักพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา สอนให้ละความชั่ว มีการเบียดเบียนคนอื่น การทำลายชีวิตสัตว์อื่น หากทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว ท่านก็สอนให้ละในสิ่งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้กระทำ มันเป็นบาป สอนให้รู้จักการบำเพ็ญบุญ มีการให้ทาน การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา เป็นต้น
หลวงตาคำดี ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมมากมาย อาทิเช่น สร้างตึกให้แก่โรงพยาบาลอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มอบอุปกรณ์การแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ มอบอุปกรณ์การศึกษา มอบทุนการศึกษา ฯลฯ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระวิบูลย์ธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ได้ถึงแก่มรณภาพลง เจ้าประคุณคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดนรนาถสุนทริการาม แขวงเทเวศร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) ได้มีพระบัญชาให้หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) และแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ท่านได้ให้เหตุผลว่า “จังหวัดสกลนครเป็น ดินแดนแห่งพระกรรมฐาน สมควรที่จะเอาพระกรรมฐานไปเป็นผู้ปกครอง” หลวงตาคำดี ท่านจึงได้ย้ายมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
เมื่อหลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดป่าสุทธาวาสเรื่อยมา มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ทำห้องน้ำห้องสุขาใหม่ สร้างตึกอนุสรณ์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองศิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี รวมทั้งได้พัฒนาวัดป่าสุทธาวาส ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ ช่วงนั้นสุขภาพของท่านไม่ค่อยจะดีนัก ท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายครั้ง ครั้นกลับจากโรงพยาบาลแล้ว ท่านได้ไปพักรักษาตัวตามวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดป่าภูธรพิทักษ์ วัดสันติกุสุมาลย์ เป็นต้น โดยทางวัดป่าสุทธาวาสนั้น ท่านได้มอบหมายให้ท่านพระครูอภัยธรรมสุนทร (พระมหาพรมมา จตฺตภโย ปัจจุบันเป็น พระราชวิสุทธินายก) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเรื่อยมา
พอปี พ.ศ.๒๕๔๖ สุขภาพของท่านไม่ค่อยดีทรุดลงไปเรื่อย ท่านจึงได้ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) หลังจากที่ท่านลาออกแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ภายหลังจากที่ท่านลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ท่านได้ย้ายไปอยู่ วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดสันติกุสุมาลย์
ต่อมาท่านได้ป่วยหนัก ทางคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาส จึงได้นำตัวของท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ กรุงเทพมหานคร แพทย์ตรวจวินัจฉัยพบว่า ท่านเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ และโรคไต ทางคณะแพทย์จึงได้ทำการรักษาจนอาการดีขึ้นพอสมควร เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙ จึงได้นิมนต์ท่านมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสกลนคร โดยพักรักษาอยู่ที่ห้องพิเศษ ๓ ตึกร่มฉัตร โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสกลนคร ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมชราภาพมิอาจทนต่ออาการอาพาธต่างๆ ท่านจึงได้ละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ห้องพิเศษ ๓ ตึกร่มฉัตร โรงพยาบาลสกลนคร สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๗ พรรษา
ที่มา : เว็บไซด์สกลธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น