พระครูสุวิมลบุญญากร (หลวงปู่บุญพิน กตฺปุญฺโญ)

  

พระครูสุวิมลบุญญากร

(หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ)

วัดผาเทพนิมิตร

ต.นิคมน้ำอูน อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร





ชาติภูมิ

หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ มีนามเดิมว่า บุญพิน เจริญชัย โยมบิดาชื่อ คุณพ่อไพ เจริญชัย โยมมารดาชื่อ คุณแม่จันที เจริญชัย
ถือกำเนิดเมื่อวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา พุทธศักราช 2476 ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2476 ณ บ้านนาบ่อ หมู่ที่ 6 ตำบลปลาไหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร  หลวงปู่มีพี่น้องร่วมบิดา–มารดาเดียวกันรวม 8 คน คือ
1. นายกามี เจริญชัย
2. นางคำเขียน เจริญชัย (ถึงแก่กรรม)
3. นางคำปั่น เจริญชัย
4. หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ
5. นางวิเศษ เจริญชัย
6. นางทองเทศ เจริญชัย
7. พ.ท. วรเดช เจริญชัย
8. นางเทวา เจริญชัย

ปฐมวัยหลวงปู่บุญพิน ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนนาบ่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระดับการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว โยมบิดา–โยมมารดาได้ให้ออกมาช่วยงานที่บ้าน เพราะที่บ้านมีอาชีพหลักคือ การทำนา ท่านได้ช่วยงานโยมบิดา–โยมมารดา จนถึงอายุ 17 ปี พอขึ้นทะเบียนทหารแล้วได้ลาโยมบิดา–โยมมารดา ไปอยู่กับพี่สาวที่บ้านนาทม ช่วยพี่สาวค้าขายและเป็นช่างเย็บผ้า พอถึงหน้านาก็ทำนา พอถึงหน้าแล้งก็ต้มเกลือใส่เรือกระแซงไปขาย หมดหน้าเกลือก็รับจ้างขนข้าวล่องเรือตามแม่น้ำสงคราม แม่น้ำโขง ไปขายในตลาดนครพนม ได้ประกอบอาชีพอย่างนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานถึง 5 ปี จนเกิดความเหนื่อยล้าเบื่อหน่ายในการค้าขาย และได้พิจารณาเห็นความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ในช่วงนั้นหลวงปู่มีศรัทธา อยากบวชในบวรพระพุทธศาสนาขึ้นมาอย่างแรงกล้า แต่พี่สาวอยากให้ครองเรือน หลวงปู่ท่านระลึกได้ว่า โยมบิดาอยากให้บวชให้ท่านเสียก่อนที่จะครองเรือน จึงลาพี่สาวกลับไปปรึกษาโยมบิดา–โยมมารดา ที่บ้านนาบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่งโยมบิดา–โยมมารดาก็อนุญาตแต่โดยดี

เข้าสู่แดนธรรมพอ อายุได้ 23 ปี หลวงปู่ได้ตัดสินใจเข้าสู่ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัตร์ โดยมีหลวงปู่สีลา อิสฺสโร เป็นผู้รับไว้และได้รับเป็นนาค ต่อมาหลวงปู่สีลา อิสฺสโร ได้ทำบุญอุทิศให้โยมมารดา และได้ให้หลวงปู่บุญพิน เป็นผู้รับบวชในครั้งนั้นด้วย

การอุปสมบทในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 เวลา 14.35 น. ท่านได้บรรพชาและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดป่าอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจารย์ เรียงตามลำดับ ดังนี้
- หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์
- หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- หลวงปู่ผ่าน ปญฺญาปทีโป วัดประทีปปุญญาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

งานด้านการปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ. 2519 เป็นเจ้าอาวาสวัดรัตนโสภณ
พ.ศ. 2527 เป็นเจ้าคณะตำบลวาริชภูมิ (ธ)
พ.ศ. 2541 เป็นเจ้าคณะตำบลวาริชภูมิ เขต 1 (ธ)
พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชาทานแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ในพระราชทินนาม ที่ “พระครูสุวิมลบุญญากร”
พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิม ที่ “พระครูสุวิมลบุญญากร”

หลวงปู่บุญพิน กตปุญฺโญ ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นพระเถราจารย์ที่ชาวจังหวัดสกลนคร พุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ให้การเคารพและนับถือ ท่านพำนักปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่ วัดผาเทพนิมิตร บ้านดงสว่าง ตำบลนิคมน้ำอูน อำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

ที่มา : http://www.sakoldham.com/ ,รายการพระธรรมค้ำแผ่นดิน, รายการภูพานธรรม รวบรวม/เรียบเรียง ๑๖  มิ.ย.  ๒๕๔๙

หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม

ลต.แตงอ่อน กัลยาณธัมโม

หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม

วัดป่าโชคไพศาล (วัดกัลยาณธัมโม)

บ้านหนองนาหาร ตำบลนาซอ

อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร


นามเดิม : แตงอ่อน บุตรศรี เป็นบุตรของนายพันธ์ และนางมุ่ย บุตรศรี
เกิด : วันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ณ บ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ต่อมาครอบครัวของท่านได้อพยบมาอยู่บ้างหนองนาหาร อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

บรรพชา : เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดเสบุญเรือง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์อินทร์ เป็นพระอุปปัชฌาย์

อุปสมบท : เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ณ วัดเสบุญเรือง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์อินทร์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ พระอธิการบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ญัตติเป็นพระธรรมยุต : เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคุณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ จากนั้นท่านได้ไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับหลวงปู่สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ที่วัดทรายงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดบ้านป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์มั่น มรณภาพ จังได้ย้ายไปอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านกุดเรือ วัดธรรมนิเวศวนาราม บ้านวานรนิวาส และวัดภูคอกม้า ตามลำดับ

ปัจจุบัน : หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม พำนัก ณ วัดป่าโชคไพศาล (วัดกัลยาณธัมโม บ้านหนองนาหาร อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

ที่มา : หนังสือ “บูรพาจารย์” ,มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโด ,จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ (ก.ค.๒๕๔๕)


พระราชสังวรญาญ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

 

หลวงพ่อพุธ

พระราชสังวรญาญ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา


ลูกศิษย์องค์สุดท้ายของ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

 

นามเดิม : พุธ อินทรหา

เกิด : เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ณ หมู่บ้านชนบท ตำบลหนองหญ้าเซ้ง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ ในช่วงอายุได้ ๔ ขวบ บิดามารดาได้ถึงแก่กรรม ท่านจึงย้ายมาอยู่กับญาติพี่น้องที่ หมู่บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

อุปสมบท : ในช่วงวัยเยาว์ ท่านได้ออกศึกษาหาความรู้ในโรงเรียนประชาบาลวัดไทรทอง ท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จึงได้ลาออกมาแล้วบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อมีอายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดอินทร์สุวรรณ บ้านโคกพุทรา ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมีท่าน พระครูวิบูลย์ธรรมขันธ์ เจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังบรรพชาแล้วได้ติดตาม พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ธุดงค์ไปยังจังหวัดอุบลฯ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์พร สุมโน พระอาจารย์พรได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้บรรพชาเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุต ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระศาสนาดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท : เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร โดยมี พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมปาโมกข์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๗ – ๒๔๘๙ ท่านได้อพยพกลับไปจำพรรษาที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างนั้น ท่านได้อาพาธอย่างหนักด้วยโรควัณโรค ต่อมาท่านได้พบกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และท่านก็ได้ช่วยรักษาโดยการให้เพ่งถึง เพ่งอาการ ๓๒ โดยให้พิจารณาถึงความตายให้มากที่สุด ทั้งยังคอยให้กำลังใจกับท่านตลอดเวลา ท่านปฏิบัติตามคำสอนของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้ปีเศษ จิตเกิดมรณนิมิตเห็นตัวเองนอนตายแล้วแสดงอาการต่างๆ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นต้น กายหายเหลือแต่จิตเพียงดวงเดียวสว่างไสวอยู่เป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นมาวัณโรคที่ว่าร้ายไม่มียารักษาได้ในสมัยนั้นได้หายเป็นปลิดทิ้ง

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้รับนิมนต์ให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา ในระยะเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส ท่านปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างไม่หยุดยั้ง และทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายธรรม สร้างคุณประโยชน์ต่อศาสนามากมาย และได้สร้างโรงเรียนราชอุปถัมภ์ สร้างอาคารให้เด็กนักเรียน มอบทุนสนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิของโรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน ราชการต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังช่วยจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลเสมอๆ อีกทั้งยังมอบทุนสนับสนุนการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งมอบทุนสนับสนุนการก่อตั้งมูลนิธิของโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย

ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ :
• พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ (ธ)
• พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
• พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ (ธ)
• พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธ)
• พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓

สมณศักดิ์ :
• พ.ศ. ๒๕๐๐ พระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่ “พระครูพุทธิสารสุนทร”
• พ.ศ. ๒๕๑๒ พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ "พระชินวงศาจารย์"
• พ.ศ. ๒๕๒๗ พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ "พระภาวนาพิศาลเถร"
• พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชาคณะ ชั้นราช ที่ "พระราชสังวรญาณ"

มรณภาพ : หลวงพ่อพุธ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๖

ที่มา : http://jedeethai.blogspot.com/2009/12/blog-post_9538.html
http://th.wikipedia.org/wiki/พระราชสังวรญาณ_(พุธ_ฐานิโย)#cite_note-1

พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)

 

ลป.จันทร์ เขมิโย

พระเทพสิทธาจารย์

(หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)

วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

 

นามเดิม : จันทร์ สุวรรณมาโจ เป็นบุตรของนายวงศ์เสนา และนางโย สุวรรณมาโจ
เกิด : วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ ตรวกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเส็ง ที่บ้านท่านอุเทน ตำบลท่านอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

บรรพชา : พ.ศ. ๒๔๓๔ อายุ ๑๐ ขวบ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บิดาที่ถึงแก่กรรม (บวชหน้าไฟ) โดยมีพระขันธ์ ขนฺติโก เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดโพนแก้ว อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ญัตติเป็นพระธรรมยุต : ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ได้นำหลวงปู่จันทร์ไปประกอบพิธีทัฬหิกรรมเป็นพระภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุตโดยสมบูรณ์ ณ พระอุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระสังฆรักขิโต (พูน) วัดศรีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูหนู ฐิตปญฺโญ (คือ พระปัญญาพิศาลเถระ) วัดใต้ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ้ย ญาณาสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา เขมิโย

สมณศักดิ์ : พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

มรณภาพ : ด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี พรรษา ๗๑



ที่มา : หนังสือ “บูรพาจารย์” ,มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโด ,จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ (ก.ค.๒๕๔๕)

พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)

 

พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)

วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ลป.เสาร์ กนฺตสีโล


นามเดิม : เสาร์

เกิด : วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (ประวัติเกี่ยวกับบิดามารดาไม่มีบันทึกไว้)

การศึกษา : ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย

อุปสมบท : ที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาท่านพระอาจารย์เสาร์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดใต้นั่นเอง

ญัตติเป็นพระธรรมยุต : ที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังได้มาอยู่ที่วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นพระภิกษุที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามายาทอ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย มีอัธยาศัยน้อมไปทางสมถะวิปัสสนา และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตร หนังในพระธรรมวินัย ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ชอบวิเวก ไม่ติดถิ่นที่อยู่ ได้เดินธุดงค์เจริญสมณธรรมตามป่าเขาและจำพรรษาตามป่าเขาในถิ่นต่างๆ ทั่งภาคอีสานเป็นเวลาหลายพรรษา
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้กลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี สำนักของท่านอยู่ที่บ้านข่าโคมอันเป็นชาติภูมิของท่านบ้าง ที่วัดเลียบบ้าง ที่วัดดอนธาตุ พิบูลมังสาหาร บ้าง ท่านอาจารย์เสาร์เป็นผู้เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหารธรรม เมื่อกลับจากธุดงค์ท่านได้นำความรู้เผยแผ่สั่งสอนแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์องค์สำคัญของท่านที่มีชื่อเสียง คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
ในเรื่องวงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน หลวงปู่เทสก์ได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์เสาร์ไว้ดังนี้ “ท่านพระอาจารย์เสาร์ แท้ที่จริงควรจะมีประวัติไว้อ่านกันสนุกบ้างก็จะดี แต่ไม่ค่อยจะเห็นประวัติของทาน หรือมี ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นสมภารอยู่ที่วัดเลียบได้ ๑๐ กว่าพรรษา คิดเลื่อมใสในภาคคณะธรรมยุต จึงยอมสละญัตติเป็นธรรมยุต ฆ้องกลองสำหรับตีในงานประเพณีทำบุญที่อึกทึกครึกโครมในสมัยนั้น ซึ่มีอยู่ประจำวัดของท่าน ท่านก็สละทิ้งหมด ญัตติเป็นธรรมยุตแล้วก็อยู่วัดนั้น ต่อมาพวกที่เขาไม่ชอบเขาก็โกรธ พวกที่ชอบเขาบอกว่า “ของเหล่านั้นไม่จำเป็น เป็นสงฆ์ขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าก็ลืมถามไปว่า ภูมิลำเนาของท่านเกิดบ้านใด อำเภอใด มารดาบิดาพี่น้องของท่านมีกี่คน แต่เชื่อว่าท่านอยู่ใกล้เมืองอุบลราชธานีนี้แหละ เพราะท่านเคยพูดถึงเรื่องญาติของท่านบวชแล้วไปอยู่หลวงพระบาง เพราะคนชาวหลวงพระบางชอบใจได้มานิมนต์ญาติของท่านไป ท่านนั้นก็ลืมชื่อไปเหมือนกัน ไม่ทราบว่าชื่ออะไร จึงน่าเสียดายประวัติของท่านมาก ไม่มีใครบันทึกไว้ ส่วนข้าพเจ้าเองก็ไม่คิดจะบันทึกเสียด้วย ทั้งๆ ที่ท่านเล่าให้ฟังสอดๆ อยู่นั่นเอง มันจะเป็นเพราะพระกัมมัฏฐานในขณะนั้นไม่คิดจะบันทึกอะไรทั้งหมด คิดจะทำความเพียรภาวนาอย่างเดียว การบันทึกนั้นบันทึกนี่เรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุให้ยุ่งสมอง ทำอารมณ์ให้ฟุ้งมาก”
มรณภาพ : ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ได้จำพรรษาอยุ่ที่วัดดอนธาตุ และได้เริ่มอาพาธเพราะโรคชรามาแต่ในพรรษานั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลสนองคุณพระอุปัชฌาย์ที่มรณภาพแล้ว ณ อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ครั้นทำบุญเสร็จโรคก็กำเริบมากขึ้น จึงพยายามเดินทางกลับ พอมาถึงวัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ก็ได้มรณภาพลงในวันนั้น ในอิริยาบถนั่งก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ การมรณภาพของท่านพระอาจารย์เสาร์นับว่าประกอบพร้อมด้วยความมีสติอันไพบูลย์ ตรงกับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้ไกลได้กราบขอโอกาสและขอขมาสรีระศพขององค์ท่าน เพื่อนำกลับมาจัดงานฌาปนกิจที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๕ โดยมีท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นกำลังสำคัญ
--------------------------------------------------
ประวัติท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร เรียบเรียงจากบันทึกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในงานพระราชทานเพลิงศพและในงานฌาปนกิจ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ๒๔๘๖ และข้อมูลจาก “วงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน” โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
 

ที่มา : หนังสือ “บูรพาจารย์” ,มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโด ,จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ (ก.ค.๒๕๔๕)