ต้นตระกูลกัมมัฏฐาน

แสดงโดยพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) เนื่องในวันบูรพาจารย์ ๒ ธ.ค. ๓๙


"บูรพาจารย์" หมายถึง อาจารย์ผู้เกิดก่อนเรา ท่านเกิดก่อนเรา ท่านบวชก่อนเรา ท่านสอนเรามาก่อน จึงได้ชื่อว่า พระบูรพาจารย์





อันดับของพระบูรพาจารย์ในภาคอีสาน อันดับแรก ท่านอริยกวี (อ่อน) ได้ไปอุปสมบทในสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมัยนั้นพระองค์ยังทรงอุปสมบทอยู่ ยังไม่ทรงลาผนวชออกมาครองเมือง แล้วท่านผู้นั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเรียนรู้พระธรรมวินัย แล้วก็นำธรรมวินัยซึ่งถอดแบบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ไปประดิษฐานคณะพระกรรมฐานธรรมยุตสงฆ์ที่วัดสีทอง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสิ้นบุญบารมีของท่านอริยกวี (อ่อน) ก็ตกทอดมาถึงท่าน พันธุละ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน



พระอริยกวี (อ่อน) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต




ถัดจากนั้น ก็มาถึงยุคของพระเดชพระคุณ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ท่านบริหารกิจการพระศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและทั้งฝ่ายปฏิบัติ ภาษากฎหมายเขาว่า คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ มีหน้าที่จัดการบริหาร ปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ตราเป็นกฎหมายสงฆ์ขึ้นมาเรียกว่าพระ ราชบัญญัติคณะสงฆ์ และก็จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม คือ สอนนักธรรม สอนบาลี สอนทั้งการปฏิบัติธุดงคกรรมฐาน สอนจนกระทั่งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม ขนาดขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ พอขยับตัว ขาหัก ยังนั่งเทศน์เฉย เอาซิ


เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)





ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์นี้แหละ ท่านมีลูกศิษย์สององค์ องค์หนึ่งคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) ตอนนี้มาแยกสายกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) เป็นผู้ทำธุระในฝ่ายคันถธุระแล้วลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งคือ พระเดชพระคุณ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นี้ ทำหน้าที่เฉพาะฝ่ายปฏิบัติฝ่ายเดียว
พระธุดงค์ในภาคอีสานที่ออกเดินธุดงค์ไปตามหัวเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตามป่าตามชนบทเป็นองค์แรกเท่าที่รู้มา คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วประมาณ ๖ พรรษา ก็มาได้ลูกศิษย์องค์สำคัญ คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นี่เป็นกำลังสำคัญ
ถ้าจะเปรียบเทียบผู้สอนหนังสือ หลวงปู่เสาร์สอนได้เฉพาะแต่ระดับประถมและมัธยม แต่หลวงปู่มั่นสอนถึงระดับมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอก ทีแรกหลวงปู่มั่นมาเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์แต่บุญบารมีของหลวงปู่มั่น นั้น บุญวาสนาของท่านมีปฏิภาณรวดเร็ว การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าได้ดี แล้วลงผลสุดท้าย ขั้นสมถะ พระอาจารย์เสาร์สอนพระอาจารย์มั่น ขั้นวิปัสสนาพระอาจารย์มั่นย้อนกลับมาสอนพระอาจารย์เสาร์ อาจารย์กลับเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์กลับเป็นอาจารย์ แต่ท่านก็ยังมีความเคารพต่อกันอย่างสุดซึ้ง ซึ่งหาความเคารพของพระภิกษุสามเณรปัจจุบันนี้มีต่อครูบาอาจารย์นั้น จะเปรียบเทียบอย่างท่านไม่ได้เลย แม้ว่าท่านจะเก่งกว่าอาจารย์ในทางภูมิจิต ภูมิธรรม ท่านก็ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน เคารพปรนนิบัติอยู่จนกระทั่งมรณภาพตายจากกันไป อันนี้คือจุดเริ่มของพระธุดงคกรรมฐานในสายภาคอีสาน
อยู่มาภายหลัง พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี พอดีในพรรษานั้น พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดบูรพาฯ ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่ทราบว่าเป็นพ.ศ. เท่าใด ทีนี้พระอาจารย์ดูลย์ กับ พระอาจารย์สิงห์ เวลาว่างจากเรียนพระปริยัติธรรม ว่างจากการสอนหนังสือ (เมื่อก่อนนี้ โรงเรียนชั้นประถมนี้อยู่ในวัด) พอตกค่ำก็ไปเฝ้าพระอาจารย์มั่น ไปเรียนกรรมฐาน ไปฟังเทศน์ฟังธรรมพระอาจารย์มั่น ในทางปฏิบัติสมาธิ สมถภาวนา แล้วมาปฏิบัติตาม เกิดผลจิตสงบเป็นสมาธิ มีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข ทั้งสององค์ท่านก็เลยตัดสินใจเลิกเรียนปริยัติธรรมติดตามพระอาจารย์มั่นไป เป็นลูกศิษย์ เดินธุดงค์ไปทั่วภาคอีสาน

-----------------------------------------------
ที่มา : http://www24.brinkster.com/thaniyo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น