พระครูวีรธรรมคุณ (หลวงปู่อินตอง สุภวโร)



พระครูวีรธรรมคุณ (หลวงปู่อินตอง สุภวโร) 

วัดป่าวีระธรรม ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร


๏ อัตโนประวัติ
“พระครูวีรธรรมคุณ” หรือ “หลวงพ่ออินตอง สุภวโร” มีนามเดิมว่า อินตอง ศรีสร้อย เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2481 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล ณ บ้านอุ่มเหม้า ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบัวพา และนางบด ศรีสร้อย ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เมื่อเรียนจบภาคบังคับ ท่านก็ออกมาช่วยบิดาและมารดาทำนา ทำไร่ ตามวิถีชีวิตชาวชนบทอีสาน

๏ การบรรพชาและอุปสมบท
ครั้น อายุได้ 17 ปี เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2498 ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับครูบาอาจารย์และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดตลอดมา รวมทั้งได้ติดตามครูบาอาจารย์ไปร่วมปฏิบัติธรรมอีกหลายแห่ง
กระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2501 ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตต์ อ.เมือง จ.จันทบุรี โดยมี พระเทพสุทธิโมลี (เสงี่ยม จิณฺณาจาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ภายในปี พ.ศ.2503 ณ สำนักเรียนวัดอรุณรังษี จ.ขอนแก่น

๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.2517 เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าวีระธรรม
พ.ศ.2536 เป็นเจ้าคณะอำเภอพังโคน-พรรณานิคม-วาริชภูมิ (ธรรมยุต)
พ.ศ.2542 เป็นเจ้าคณะอำเภอพังโคน-วาริชภูมิ-นิคมน้ำอูน (ธรรมยุต)

๏ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูวีรธรรมคุณ
พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นโท ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม


๏ พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม
ปัจจุบัน นี้ หลวงพ่ออินตอง สุภวโร พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม จ.สกลนคร อยู่อบรบศีลธรรม สั่งสอนศิษยานุศิษย์ เผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างถาวรวัตถุ ทั้งโบสถ์ และศาลาการเปรียญ ฯลฯ  พร้อมกับหลักธรรมคำสอนที่ให้คณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านได้ยึดถือน้อมนำมาปฏิบัติ ความว่า “เมื่อ มาก็ตัวเปล่า เมื่อไปก็ไปตัวเปล่า ให้เร่งสร้างความดีงามเพราะความดีงามเท่านั้นที่คงอยู่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องทำให้โลกไม่วุ่นวาย” ซึ่งเป็นหลักธรรมสั้นๆ แต่เข้าใจง่าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น