พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)

 

พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)

วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ลป.เสาร์ กนฺตสีโล


นามเดิม : เสาร์

เกิด : วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (ประวัติเกี่ยวกับบิดามารดาไม่มีบันทึกไว้)

การศึกษา : ได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย

อุปสมบท : ที่วัดใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาท่านพระอาจารย์เสาร์ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดใต้นั่นเอง

ญัตติเป็นพระธรรมยุต : ที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือ วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลังได้มาอยู่ที่วัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นพระภิกษุที่มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามายาทอ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย มีอัธยาศัยน้อมไปทางสมถะวิปัสสนา และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตร หนังในพระธรรมวินัย ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ชอบวิเวก ไม่ติดถิ่นที่อยู่ ได้เดินธุดงค์เจริญสมณธรรมตามป่าเขาและจำพรรษาตามป่าเขาในถิ่นต่างๆ ทั่งภาคอีสานเป็นเวลาหลายพรรษา
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้กลับมายังจังหวัดอุบลราชธานี สำนักของท่านอยู่ที่บ้านข่าโคมอันเป็นชาติภูมิของท่านบ้าง ที่วัดเลียบบ้าง ที่วัดดอนธาตุ พิบูลมังสาหาร บ้าง ท่านอาจารย์เสาร์เป็นผู้เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหารธรรม เมื่อกลับจากธุดงค์ท่านได้นำความรู้เผยแผ่สั่งสอนแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์องค์สำคัญของท่านที่มีชื่อเสียง คือ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร
ในเรื่องวงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน หลวงปู่เทสก์ได้กล่าวถึงท่านพระอาจารย์เสาร์ไว้ดังนี้ “ท่านพระอาจารย์เสาร์ แท้ที่จริงควรจะมีประวัติไว้อ่านกันสนุกบ้างก็จะดี แต่ไม่ค่อยจะเห็นประวัติของทาน หรือมี ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ได้ยินแต่ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นสมภารอยู่ที่วัดเลียบได้ ๑๐ กว่าพรรษา คิดเลื่อมใสในภาคคณะธรรมยุต จึงยอมสละญัตติเป็นธรรมยุต ฆ้องกลองสำหรับตีในงานประเพณีทำบุญที่อึกทึกครึกโครมในสมัยนั้น ซึ่มีอยู่ประจำวัดของท่าน ท่านก็สละทิ้งหมด ญัตติเป็นธรรมยุตแล้วก็อยู่วัดนั้น ต่อมาพวกที่เขาไม่ชอบเขาก็โกรธ พวกที่ชอบเขาบอกว่า “ของเหล่านั้นไม่จำเป็น เป็นสงฆ์ขอให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าก็ลืมถามไปว่า ภูมิลำเนาของท่านเกิดบ้านใด อำเภอใด มารดาบิดาพี่น้องของท่านมีกี่คน แต่เชื่อว่าท่านอยู่ใกล้เมืองอุบลราชธานีนี้แหละ เพราะท่านเคยพูดถึงเรื่องญาติของท่านบวชแล้วไปอยู่หลวงพระบาง เพราะคนชาวหลวงพระบางชอบใจได้มานิมนต์ญาติของท่านไป ท่านนั้นก็ลืมชื่อไปเหมือนกัน ไม่ทราบว่าชื่ออะไร จึงน่าเสียดายประวัติของท่านมาก ไม่มีใครบันทึกไว้ ส่วนข้าพเจ้าเองก็ไม่คิดจะบันทึกเสียด้วย ทั้งๆ ที่ท่านเล่าให้ฟังสอดๆ อยู่นั่นเอง มันจะเป็นเพราะพระกัมมัฏฐานในขณะนั้นไม่คิดจะบันทึกอะไรทั้งหมด คิดจะทำความเพียรภาวนาอย่างเดียว การบันทึกนั้นบันทึกนี่เรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุให้ยุ่งสมอง ทำอารมณ์ให้ฟุ้งมาก”
มรณภาพ : ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ได้จำพรรษาอยุ่ที่วัดดอนธาตุ และได้เริ่มอาพาธเพราะโรคชรามาแต่ในพรรษานั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลสนองคุณพระอุปัชฌาย์ที่มรณภาพแล้ว ณ อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ครั้นทำบุญเสร็จโรคก็กำเริบมากขึ้น จึงพยายามเดินทางกลับ พอมาถึงวัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ก็ได้มรณภาพลงในวันนั้น ในอิริยาบถนั่งก้มกราบพระประธานในพระอุโบสถ การมรณภาพของท่านพระอาจารย์เสาร์นับว่าประกอบพร้อมด้วยความมีสติอันไพบูลย์ ตรงกับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๓ เดือน ๑ วัน คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้ไกลได้กราบขอโอกาสและขอขมาสรีระศพขององค์ท่าน เพื่อนำกลับมาจัดงานฌาปนกิจที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๕ โดยมีท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นกำลังสำคัญ
--------------------------------------------------
ประวัติท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร เรียบเรียงจากบันทึกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในงานพระราชทานเพลิงศพและในงานฌาปนกิจ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน ๒๔๘๖ และข้อมูลจาก “วงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน” โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
 

ที่มา : หนังสือ “บูรพาจารย์” ,มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโด ,จัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ (ก.ค.๒๕๔๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น